ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็ว ความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันได้ผลักดันเนื้อหาคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้เสพใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายประเภทก็ส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อไปก่อนจ่ายทีหลังอย่างเช่น “บัตรเครดิต” ทำให้บางทีเราไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเอง จนบางครั้งเราถูกสะกดด้วยคำว่า “ของมันต้องมี” จากภาพลวงตาทางรายได้ ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของ “ภาระหนี้”
ยิ่งภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง และยิ่งการควบคุมในการใช้จ่ายน้อยลง (Self Control) ก็ยิ่งส่งผลให้ภาระหนี้ดังกล่าวก่อตัวมากขึ้น จนกลายเป็น “หนี้เสีย” หรือ NPL (Non-Performing Loan)
โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโรพบว่า มีตัวเลขหนี้เสียคงค้างอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 8.4% ต่อจำนวนลูกหนี้กลุ่มที่ไม่สามารถผ่อนได้ราวๆ 5 – 5.5 ล้านคน...
อย่างไรก็ตามปัจจุบันตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท) นับว่าเป็นตัวเลขที่ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 70% ของจีดีพี
สะท้อนถึงความรู้ทางด้านการเงินคือสิ่งที่คนไทยควรตระหนัก และยกให้เป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ แล้วหนี้เสียที่ว่านี้มันคืออะไร และหากกลายเป็นหนี้เสียแล้วจะทำอย่างไรดีคิดว่าหลายคนอาจจะอยากรู้และสงสัย วันนี้ XSpring AMC จะพามาทำความรู้จักถึงหนี้เสีย กับปัญหาที่จะตามมา และวิธีการรับมือกับมันเมื่อเกิดปัญหา
NPL หรือ หนี้เสียคืออะไร?
NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan หรือที่เรียกว่า “หนี้เสีย” คือหนี้ที่มีการผิดนัดชำระ หรือเกิดจากกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด โดยมีการค้างชำระนานเกินกว่า 90 วัน หากติดสถานะ NPL แล้วจะส่งผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง?การติดสถานะ NPL จะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้โดยตรง เพราะหากลูกหนี้มีแผนจะทำสินเชื่อในอนาคต สถาบันการเงินจะมีการตรวจสอบประวัติการทำสินเชื่อ ประวัติการผ่อนชำระเพื่อประกอบการพิจารณา หากเราพลาดพลั้งไปติดสถานะ NPL ก็อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ “ติดบูโร” เหมือนที่หลายคนพูดกัน การ “ติดบูโร” หรือ เจ้า “เครดิตบูโร” มันคืออะไร สำคัญไฉน?
เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือ ศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม ประวัติการชำระหนี้ และวินัยทางการเงินของเรา จะถูกจัดเก็บและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้เป็นระยะเวลา 36 เดือน ซึ่งธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องตรวจสอบทุกครั้งเมื่อจะทำการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้หากธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ ไปตรวจสอบและพบว่าวินัย พฤติกรรมทางการเงินไม่ดี และผิดนัดชำระจนเป็นนิสัย การอนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหมือนเราติดทัณฑ์บนหรือคาดโทษทางการเงินไว้เรียบร้อยแล้วว่าเราไม่ได้มีความน่าไว้วางใจที่จะผ่อนชำระเงินได้ตามที่กำหนดไว้ หนี้ NPL มีกี่ประเภท? และต่างกันอย่างไร
หนี้ NPL มี 2 ประเภท คือ 1) แบบมีหลักประกัน (Secured Loan) และ 2) แบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ข้อแตกต่างระหว่างหนี้ 2 ประเภทนี้ คือหนี้ NPL ที่มีหลักประกันจะมีสินทรัพย์ หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยที่นิยมที่สุดจะเป็นหลักประกันจำพวกอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะที่ดิน บ้าน และคอนโดมิเนียม สำหรับหนี้ไม่มีหลักประกันนั้น จะไม่มีสินทรัพย์หรือทรัพย์สินใด ๆ มาค้ำเลย ซึ่งหนี้สินประเภทนี้ที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
การเจรจาเท่านั้นที่จะช่วยเราให้หลุดพ้นจากสถานะนี้ไปได้ แต่การเจรจานั้นไม่ใช่การไปเจรจาพูดคุยธรรมดาทั่วไปนะ แต่เป็นการเจรจาประนอมหนี้ โดยอาจจะมีการขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไป ลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือน ขอจ่ายแค่เพียงยอดดอกเบี้ยไปก่อนจนประวัติการผ่อนชำระเราดีขึ้น พอให้เราได้มีเวลาหายใจหายคอบริหารรายได้และรายจ่ายของเราให้สมดุล แต่ถ้าในกรณีที่เราเป็นหนี้ NPL แบบที่มีหลักประกันก็อาจจะขายหลักประกันนั้นเพื่อปลดหนี้ก็ได้ ทั้งนี้การไม่หลบ ไม่เลี่ยง และเข้าเจรจาตามนัดที่ทางสถาบันการเงินเรียกเราไปนั้น จะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด และส่งผลดีต่อประวัติ และพฤติกรรมทางการเงินของเราในอนาคตได้
เมื่อประวัติทางการเงินเสียไปแล้ว จะทำให้การขอสินเชื่อใหม่ในอนาคตจะยากขึ้นไหม
คนเราเมื่อประวัติเสียจากการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะมีความสงสัยว่าเราจะโดนคาดโทษนานเท่าไหร่ จะสามารถหลุดพ้นมันได้อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีแก้ก็ไม่ได้ยากมากนัก เพียงแค่เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นขึ้นใหม่ โดยการสร้างประวัติใหม่ที่ดี การเริ่มเจรจากับธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เราได้กู้ยืมอยู่ ลองพูดคุยหาแนวทางร่วมกัน อาจจะขอเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างการชำระ และต้องแสดงให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินเห็นถึงความตั้งใจที่จะใช้หนี้ของเรา ทั้งนี้หากหนี้เป็นหนี้ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น รถยนต์ หรือบ้าน เราอาจจะต้องขายของสิ่งเหล่านี้เพื่อลดภาระ เพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มกระแสเงินสดในกระเป๋าของเราให้ผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ สุดท้ายแล้วเมื่อเราทำการชำระหนี้ทั้งหมดเรียบร้อย ก็ควรเก็บหลักฐานการปลอดหนี้และไปตรวจสอบเครดิตของเราที่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรว่าสถานะของเราได้เปลี่ยนไปหรือยัง ถ้าสถานะเปลี่ยนแล้วเราก็จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อใหม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดหวัง เราสามารถแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งสร้างวินัยทางการเงินของเราใหม่ได้
ในกรณีเจรจาแล้วแต่ทำไม่ได้ตามที่ตกลงจนเกิดการยึดทรัพย์เกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร?
อย่างคำพูดของ Warren Buffett ที่ว่า “เมื่อเราซื้อของที่ไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น” การถูกยึดทรัพย์ในกรณีที่เป็น NPL แบบมีหลักประกัน ตัว NPL จะเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนประเภทหนี้ พร้อมกับชื่อเสียงเรียงนามใหม่ว่า NPA (Non-Performing Asset) หรือทรัพย์สินรอการขาย ซึ่งการเกิดขึ้นของ NPA นั้นคือ การเปลี่ยนสภาพจาก NPL เป็น NPA โดยธนาคาร และสถาบันการเงินจะต้องยึดทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน เนื่องจากลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนดแล้วจึงเกิดกระบวนการขายทอดตลาด
เขายึดทรัพย์เราแล้วเอาไปไหน?
เมื่อทำตามสัญญาจนถึงขั้นมีการยึดทรัพย์ และหลังจากผ่านกระบวนการขายทอดตลาดไปแล้วนั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะเอาหลักประกันที่ได้ไปประกาศขายตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ของธนาคารหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งทาง XSpring ก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ด้วยเช่นกัน ภายใต้ชื่อ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด (XSpring AMC Asset Management Company Limited) หรือ XSpring AMC เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ซื้อหนี้เสียมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเรามุ่งเน้นให้ลูกหนี้ที่มีประวัติหนี้เสียเข้ามาเจรจาต่อรอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ลูกหนี้และบริษัทเอง ทั้งนี้หากผู้ใดสนใจบ้านมือสองหรือคอนโดมิเนียมในทำเลที่ดี และราคาสมเหตุสมผล สามารถเข้ามาคุยกับเรา หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่อีเมล info@xspringamc.com หรือโทร 02-030-3730